ในกรณีของ ฟาบริซ มูอัมบา นักฟุตบอลทีมโบลตันที่วูบไประหว่างแข่งกับทีมทอตแน่ม ฮอตสเปอร์ เมื่อ 17 มีนาคมที่ผ่านมานั้น คาดว่าปัญหาน่าจะเกิดจากหัวใจที่แสนแกร่งของเขา

คุณหมออเดล ชาร์ลส์ (Dr.Adel Charles) ผู้มีดีกรีด้านเวชศาสตร์การกีฬาโดยตรงกล่าวว่ามันมีโรคหนึ่งซึ่งเป็นไปได้ในนักกีฬาแม้มีสุขภาพดีมีหัวใจที่แกร่งพร้อมก็คือ "ภาวะหัวใจหนา - Ventricular hypertrophy" ขออธิบายต่อจากคุณหมอชาร์ลส์สักนิดเพราะเชื่อว่าทุกคนมีพื้นความรู้สุขภาพดีอยู่แล้ว คือ หัวใจมนุษย์แบ่งง่ายๆ เป็น 4 ห้อง โดยมี 2 ห้องบนกับ 2 ห้องล่างเหมือนตึกแถวสองชั้นสองคูหา
คูหาที่ผิดปกติของเจ้าพ่อมิดฟิลด์แห่งโบลตันนี้ก็คือ "คูหาล่าง" คุณหมอชาร์ลส์สันนิษฐานว่าห้องล่างน่าจะหนามากเกินไปจนทำให้หัวใจเต้นผิดปกติเหมือนกับตึกที่ต่อเติมเข้ามาให้ผิดแบบจน "ทรุด"
กรณีของมูอัมบานั้นคาดกันว่ามันทรุดจน "ล้ม" ไปส่วนหนึ่งแบบไม่ทันตั้งตัวดังที่เห็นล้มลงไปชักแหง็กๆ อยู่กลางสนาม แต่เดชะบุญที่ยังหนุ่มแน่น รากฐานของกล้ามเนื้อหัวใจส่วนอื่นยังแกร่งพอจึงรักษาแล้วคืนกลับมาได้ไม่ทรุดจน "หมดใจ" นี่คือสิ่งที่คุณหมอท่านสันนิษฐานไว้ซึ่งก็ยังต้องรอการตรวจที่แน่ชัดขั้นต่อไป
ถึงตรงนี้ขอท่านผู้อ่านที่รักการออกกำลังอย่าเพิ่งตกใจนะคะเพราะจริงแล้วท่านอาจมีภาวะนี้อยู่ในอกแล้วก็ได้ .. เป็นคนใจหนาอาจดีกว่าใจน้อยก็ได้ เพราะว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาพบได้ในผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอและนักกีฬาที่ฝึกซ้อมเป็นประจำอยู่แล้ว เรียกว่า "หัวใจนักกีฬา" ซึ่งจะเต้นช้าและมีกล้ามเนื้อขยายออกมาเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น อย่างนี้ถือเป็นเรื่องการปรับทางสรีรวิทยา เป็นการปรับรูปแบบหนึ่งซึ่งคุณหมอชาร์ลส์ท่านว่า มีอยู่ 6-8% ที่จะนำไปสู่ภาวะหัวใจสะดุดจนหยุดเต้นได้
ไม่อยากให้ทุกคนประมาท หากท่านเริ่มมีอาการไม่ปกติ เช่น เหนื่อยง่าย, รู้สึกใจหวิวๆ สั่นๆ พาลจะวูบบ่อยๆ ก็ขอให้ลองตรวจด้วยวิธีเฉพาะสำหรับหัวใจคือ
- แปะหน้าอกวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- อัลตร้าซาวน์หัวใจ
- สแกนหัวใจ
- เจาะเลือดตรวจค่าความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ
อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องเสียหน้าหรือว่าความอ่อนแอของร่างกาย เพราะแม้คนที่มีหัวใจแกร่งปานเพชรก้ยังเสร็จมาแล้ว
โรคหนึ่งที่เจอในคนที่บ้าเล่นกีฬามากๆ คือ "โรคติดออกกำลังจนโทรม" ใครเป็นแล้วจะมีสัญญาณสังเกตได้คือ
- ดูผอมโทรม ผิดรูปไป เช่น แก้มตอบ ตาลึกโหล ดูเหมือนคนป่วยทั้งที่ออกกำลังกายเสมอ
- เสียงาน เสียความสัมพันธ์กับคนทั่วไป วันๆ หมกตัวอยู่ในโรงยิม/สนามกีฬา จนคนที่บ้านเริ่มรู้สึกถึงความห่างเหินนี้ได้
- กินน้อย หมกมุ่นอยู่แต่กับการออกกำลังจนลืมทุกเรื่องแม้การดำรงชีวิต ปล่อยนานเข้ามีสิทธิ์ป่วยจากโรครุมเร้าและโรคขาดสารอาหาร
- นอนผิดปกติ นอนไม่หลับ ฝันร้าย ตื่นไม่สดชื่น ต่อไปจะอันตรายถึงขนาดเป็นโรคซึมเศร้าได้
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่เราจะสังเกตเห็น "รอยแก่" ในนักกีฬามืออาชีพบางท่านได้ เพราะการออกกำลังมากแบบ "ไม่เหมาะสม" จะเป็นการทำลายร่างกายแบบเต็มๆ
นักกีฬาที่หักโหมมากไม่ได้ดูเด็กกว่าวัยเลย หากแต่กลับดูร่วงโรยไปเร็วกว่าวัยด้วยซ้ำ จึงอยากขอย้ำเอาไว้อีกครั้งว่าจะเป็นคนธรรมดาหรือว่านักกีฬา การฝึกซ้อมออกกำลังกายที่ดีคือ "พอดี" โดยยึดหลักกว้างๆ ต่อไปนี้ไว้ใช้ปรับให้ปลอดภัยก็ได้
- ออกกำลังสลับชนิด เช่น ผละจากเตะบอลไปตีแบดฯ ตีกอล์ฟ ว่ายน้ำบ้างก็ได้
- ฟิตไม่เกินสอง คือไม่ออกนานเกินไปกว่า 2 ชั่วโมงถ้าไม่จำเป็น ประเภทใช้ชีวิตแบ่งเซลล์อยู่แต่ในฟิตเนสครึ่งค่อนวันนั้นอาจเยอะไปสำหรับบางคน การออกได้สักวันละ 30 นาทีเป็นอย่างน้อยถือว่าดี เอาเป็นว่าถ้านานถึงขั้นเกิน 2 ชั่วโมงควรจะหยุดพักไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง
- ให้มีเวลาพัก ออกกำลังกายสลับทำงานมา 6 วันต่อสัปดาห์แล้วก็ขอให้มีพักบ้างสัก 1 วัน ที่เป็นวันพักผ่อนจริงๆ เลี่ยงการบ้าพลังออกกำลังทุกวันไม่มีวันหยุด เพราะนั่นจะเป็นการก่อผลเสียมากกว่าผลดี
- รักความสงบ หาเวลาพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เที่ยวกลางคืน นอนดึก ดูหนัง ฟังเพลง เอ็นเตอร์เทนเรื่อยไป การได้พักที่ดีสำหรับร่างกายคือความสงบจนรู้สึกถึงความสุขเย็นในใจ .. จะเป็นการนอนหลับลึก ฝึกสมาธิหรืออ่านหนังสือสักวันละ 15 นาทีก็ยังได้
- ไม่ครบอย่าซ้อม คือไม่แข็งแรงครบ 32 อย่าเพิ่งไปโหมออกกำลัง หรือเพิ่งนอนดึกตรากตรำทำงานมาขออย่าฝืนร่างกาย ให้ได้พักเต็มที่ก่อนจะดีกว่า ส่วนท่านที่เพิ่งฟื้นไข้ก็ยังไม่ควรออกเลยนะคะ
วิธีที่ว่านี้จะเป็นทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ "ฟุบคาสนาม" ให้คนใกล้ตัวต้องใจหายใจคว่ำกันอีก ตามสนามกีฬาที่มีผู้ไปใช้บริการกันมากนั้นมีผู้ไปล้มคาสนามจนต้องเก็บกวาดกันมานักต่อนัก
แต่ก็เข้าใจผู้รักการออกกำลังนะ เพราะสำหรับผู้ที่มีหัวใจแกร่งดุจอาชาจะมีพลังผลักดันสูงอยู่นิ่งไม่ได้ ทั้งความคิดหัวจิตหัวใจมันมีพลังไปหมดอดทำไม่ได้ ดังนั้นอายุไม่ใช่สิ่งสำคัญเลย จึงไม่น่าแปลกใจว่าบุคคลประเภทนี้ไม่ว่ามีอายุเท่าไหร่ก็ยังดูกระฉับกระเฉงมาเพลงเร็วอยู่เสมอ
ผู้ที่มีพลังหนุ่มสาวอยู่ในตัวเช่นนี้ เวลาออกกำลังกายก็มีพลังมากกว่าคนในวัยเดียวกัน ดูได้จากการออกกำลังได้แทบทุกวัน วันละครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ใครทำเช่นนี้ได้จะไม่แก่เร็วค่ะ แต่ในทางตรงข้ามคือใครที่ไม่ออกกำลังกายปล่อยตัวไปตามวัยโดยคิด(เอาเอง)ว่า "หมดไฟ" แล้ว อันนี้เป็นสิ่งน่าเสียดายยิ่ง เพราะสิ่งที่ธรรมชาติให้รางวัลมนุษย์เรามาเสมอกันหมดก็คือ "หัวใจ" ที่ใช้สู้กับชีวิตได้ แค่อย่าไปหักโหมใช้มันเสียจน "ใจฝ่อ" ขอให้อยู่ในทางสาย "พอดี"
อย่าคิดว่าดีแล้ว "โหม" ออกหนักไป ผลลัพธ์จะแย่กว่าที่คิดมาก
จากบทความของ นพ.กฤษดา ศิรามพุช (หนังสือคู่สร้างคู่สม ฉ.744 หน้า 66-69)
คุณหมอได้ยกมาอีก 2 กรณี คือ
กรณีของนักเตะอินเดีย วัย 27 ปี ชื่อ "ดี เวนกาเตซ" สมาชิกทีมบังกาลอร์ มาร์ส ในฟุตบอลดิวิชั่น เอ ที่เกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันระหว่างเกมการแข่งขันกับทีมเซาท์ เวสเทิร์น เรลเวย์ ที่สนามบังกาลอร์ แต่ในช่วงดังกล่าวไม่มีการเตรียมรถพยาบาล จึงต้องส่งตัวเขาด้วยรถตุ๊กตุ๊กไปโรงพยาบาลและเสียชีวิตในที่สุด เมื่อ 21 มีนาคม 2555
อ่านข่าว ดี เวนกาเตซ เสียชีวิต คลิกที่นี่ค่ะ
และกรณีของปิแอร์มาริโอ โมโรซินี่ นักฟุตบอลอิตาลี วัย 25 ปี ทีมลิวอร์โน ที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายคาสนามระหว่างลงแข่งขันกัลโช เซเรีย บี กับทีมเปสคารา เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา
อ่านข่าว ปิแอร์มาริโอ โมโรซินี่ เสียชีวิต คลิกที่นี่ค่ะ
-------------------------------------
Rest in peace สำหรับผู้เสียชีวิตทุกท่าน
ปล. นั่งพิมพ์จากนิตยสาร หากมีข้อผิดพลาดก็อย่าว่ากันเลยนะคะ ไม่งั้นจะเรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่