
เมื่อย้อนอดีตกลับไปในวงการลูกหนังอังกฤษ อดีตนักเตะวูล์ฟแฮมป์ตัน และทีมชาติไอร์แลนด์เหนืออย่าง เดเร็ก ดักแกน ซึ่งเป็นผู้บริหารของทีมเคทเทอริ่ง ทาวน์ ในเซาเธิร์น ลีก ได้กลายมาเป็นคนที่ริเริ่มการเจรจาธุรกิจเกี่ยวกับสปอนเซอร์เสื้อแข่ง เขาเซ็นสัญญา 4 ปีกับเคทเทอริ่ง ไทร์ส ซึ่งเป็นบริษัทของท้องถิ่น
มีการสกรีนชื่อของบริษัทลงบนเสื้อแข่งของเคทเทอริ่ง ทาวน์ เป็นครั้งแรกในเกมลีกที่พบกับบาธ ซิตี้ ในวันที่ 24 มกราคม 1976 แต่ทางสโมสรก็ถูกเอฟเอสั่งให้เอาชื่อสปอนเซอร์ออกไปในอีก 4 วันให้หลัง แม้ดักแกนจะพยายามเถียงว่า 'เคทเทอริง ที' บนเสื้อนั้นหมายถึงเคทเทอริง ทาวน์ ก็ตาม
เอฟเอขู่ว่าจะปรับเงินสโมสรเป็นจำนวน 1,000 ปอนด์ หากว่าพวกเขายังไม่นำชื่อสปอนเซอร์ออกจากเสื้อแข่ง แต่หลังจากนั้นทั้งดาร์บี้ เคาน์ตี้, โบลตัน วันเดอเรอร์ส และเคทเทอริ่ง ทาวน์ ก็ได้ร่วมกันต่อสู้จนเอฟเอยอมให้มีการโฆษณาบนเสื้อแข่งได้เป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1977/78 แม้ว่าบางทีมในตอนนั้นจะยังไม่สามารถหาสปอนเซอร์ได้ทันก่อนเริ่มต้นฤดูกาลก็ตาม
ในช่วงปิดฤดูกาลปี 1978 ดาร์บี้ เคาน์ตี้ เป็นทีมแรกที่มีการเจรจาเซ็นสัญญาสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อแบบเป็นทางการ โดยพวกเขาได้จับมือกับซาบซึ่งเป็นบริษัทจากสวีเดน แต่เสื้อแข่งที่มีสปอนเซอร์ติดหน้าอกเสื้อของพวกเขาก็ปรากฏให้เห็นเพียงแค่การถ่ายภาพทีมก่อนเริ่มต้นฤดูกาลเท่านั้น เมื่อมีการกดดันจากบริษัททางโทรทัศน์ที่ขู่ว่าจะฟ้องเอฟเอหากปล่อยให้มีการโฆษณากันบนเสื้อแข่งของทีมในฟุตบอล ลีก
ปีต่อมาลิเวอร์พูลก็ประกาศเซ็นสัญญาสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อกับฮิตาชิเป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นหลายสโมสรก็แห่กันหาสปอนเซอร์มาติดที่เสื้อของตัวเองเช่นเดียวกัน และในปี 1983 บริษัททางโทรทัศน์ก็อนุญาตให้มีการโฆษณาบนเสื้อแข่งในเกมที่มีการถ่ายทอดสดได้
ฟุตบอล ลีก เริ่มตั้งกฏเกี่ยวกับขนาดของโลโก้ที่จะนำมาติดบนเสื้อแข่ง โดยไม่ให้เกิน 81 ตารางเซนติเมตร (32 ตารางนิ้ว) แต่สำหรับเกมถ่ายทอดสดนั้นให้มีขนาดเล็กลงมาอีกครึ่งหนึ่ง หลังจากนั้นทั้งเอฟเอ และยูฟ่าก็ออกกฏออกมาเกี่ยวกับขนาดของโลโก้สปอนเซอร์ที่แตกต่างกันออกไปด้วย
มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกฏของสปอนเซอร์บนเสื้อแข่งอยู่เสมอตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่โดยรวมแล้วมันก็ไม่มีอะไรที่แตกต่างออกไปมากนัก และที่เห็นกันได้ชัดเจนสุดก็คือขนาดของโลโก้สปอนเซอร์ที่เล็กลงในการแข่งขันรายการยุโรป เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตอนที่ลงเตะในพรีเมียร์ ลีก
สำหรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เองก็มีสปอนเซอร์บนเสื้อแข่งมาเป็นเวลานานเช่นกัน และนี่ก็คือประวัติทั้งหมดของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้...

1982-2000 ชาร์ป อิเล็กทรอนิกส์ (สหราชอาณาจักร)
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปิดตัวสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายแรกของสโมสรในวันที่ 27 เมษายน 1982 เป็นการจับมือกับชาร์ป บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น โดยมีการเซ็นสัญญากัน 2 ปีในช่วงก่อนเริ่มฤดูกาล 1982/83
โดยชาร์ปที่เซ็นสัญญากับทีมปีศาจแดงนั้นมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหราชอาณาจักร โดยมูลค่าของการเซ็นสัญญา 2 ปีในครั้งนั้นอยู่ที่ 500,000 ปอนด์ ต่อมาในเดือนมีนาคม 1984 ชาร์ปก็ตกลงเซ็นสัญญากับทีมต่อไปอีก 2 ปี โดยตกลงที่จะจ่ายเงินเป็นจำนวน 700,000 ปอนด์ให้กับสโมสร ก่อนที่จะมีการต่อสัญญาออกไปอีกหลังจากนั้นด้วย

2000-2006 โวดาโฟน
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2000 สโมสรได้ประกาศเซ็นสัญญา 4 ปีกับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของโลกอย่างโวดาโฟนด้วยมูลค่า 30 ล้านปอนด์ โดยการเป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อนั้นจะเริ่มต้นขึ้นในฤดูกาล 2000/01 จากนั้นในเดือนธันวาคม 2003 ก็มีการต่อสัญญาออกไปอีก 4 ปีด้วยมูลค่าสูงถึง 36 ล้านปอนด์
อย่างไรก็ตามในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2005 ซึ่งเป็นเพียงแค่ปีที่ 2 ในการต่อสัญญาครั้งล่าสุด ทั้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และโวดาโฟนก็ได้ตกลงยุติสัญญาร่วมกันซึ่งจะมีผลทันทีเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล หลังจากที่โวดาโฟนได้ตกลงเซ็นสัญญากับทางยูฟ่า ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูร้อนของปี 2006 โดยจะทำให้ทางบริษัทเป็นพาร์ทเนอร์กับรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และด้านโทรคมนาคมต่างๆ ในการแข่งขัน และก็เชื่อกันว่านั่นน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โวดาโฟนต้องถอยออกมาจากทีมปีศาจแดงในที่สุด

2006-2010 เอไอจี
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ประกาศเซ็นสัญญาสปอนเซอร์ที่มีมูลค่าเป็นสถิติถึง 100 ล้านเหรียญ (72 ล้านปอนด์) กับเอไอจี บริษัทประกันภัยรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2006 โดยมีระยะสัญญาทั้งสิ้น 4 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ฤดูกาล 2006/07 ดีลนี้มีมูลค่ามากกว่าที่เชลซีทำสัญญากับซัมซุงที่จำนวน 50 ล้านปอนด์ ด้วยระยะสัญญา 5 ปีเสียอีก
เอไอจี หรือชื่อเต็มคืออเมริกัน อินซูแรนซ์ กรุ๊ป เป็นบริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แถมยังได้เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดของโลกเป็นอันดับที่ 6 ในปี 2007 ด้วยตามรายงานของฟอร์บส โกลบอล
วันที่ 21 มกราคม 2009 เอไอจีออกมาบอกว่าจะไม่ต่อสัญญาฉบับใหม่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังจากที่สัญญาปัจจุบันจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2010 โดยทีมปีศาจแดงก็ได้เริ่มเจรจาหาสปอนเซอร์รายใหม่ รวมถึงบริษัททางด้านการเงินของอินเดียที่มีชื่อว่าซาฮาร่าด้วย

2010-2014 เอออน
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกลงเซ็นสัญญา 4 ปีกับเอออน บริษัททางด้านการเงินรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 มิถุนายน 2009 โดยสัญญาจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมิถุนายน 2010 แม้ทางสโมสรจะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอะไรมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สื่อมวลชนในอังกฤษก็เชื่อกันว่ามันน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 88 ล้านปอนด์เลยทีเดียว

2014-2021 เจเนอรัล มอเตอร์ส (เชฟโรเล็ต)
วันที่ 20 มิถุนายน 2011 (ขณะที่ยังเหลือสัญญากับเอออนอยู่อีกถึง 3 ปี) แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ประกาศเซ็นสัญญาสปอนเซอร์กับเจเนอรัล มอเตอร์ส บริษัทผลิตรถยนต์ของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขในช่วงแรก แต่สำนักข่าวรอยเตอร์ก็เผยออกมาว่าดีลนี้มีมูลค่าสูงถึง 600 ล้านเหรียญ (ราว 380 ล้านปอนด์) ตลอดระยะสัญญา 7 ปี บ้างก็ว่าดีลนี้มีมูลค่า 200 ล้านปอนด์ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ได้ทำลายสถิติค่าเซ็นสัญญาสปอนเซอร์จำนวน 125 ล้านปอนด์ที่กาตาร์ ฟาวน์เดชั่น จ่ายให้กับเอฟซี บาร์เซโลน่า เป็นที่เรียบร้อย
จากการเซ็นสัญญาในครั้งนี้ ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะมีชุดแข่งที่ติดโลโก้ของเชฟโรเล็ตในฤดูกาล 2014/15 โดยดีลนี้เกิดขึ้นเพียง 6 สัปดาห์หลังจากที่เจเนอรัล มอเตอร์ส ได้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนทางด้านรถยนต์อย่างเป็นทางการของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยระยะสัญญา 5 ปีในเดือนพฤษภาคม 2012