
คุณเข้าใกล้นัดที่ 1000 ของคุณเข้าไปทุกทีแล้วและคุณก็ได้รับอะไรๆ มากมายตลอด 18 ปีใน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แล้วอะไรคือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้คุณทำงาน?
อืม...มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างง่าย เมื่อคุณเข้าสู่การจัดการทีมฟุตบอล คุณต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับตำแหน่งนั้น นั่นคือความมุ่งมั่น ความพยายามและความเสียสละ ถ้าคุณไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้แล้วคุณย่อมไม่ได้รับโอกาส ผมเริ่มงานนี้เมื่ออายุ 32 ปี และผมไม่เชื่อว่าผมได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อถือเหล่านั้นไป
ผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ผมอยู่มากว่า 30 ปี ในฐานะผู้จัดการทีม การจัดการสโมสรนี้ยิ่งทำให้มันง่ายขึ้น ทั้งมาตรฐานของสโมสร ประวัติศาสตร์และแฟนๆ ยิ่งทำให้สร้างแรงจูงใจได้ง่ายขึ้น คุณไม่ได้กำลังทำงานอยู่กับทีมพาร์ทไทม์ เล็กๆ ที่อยู่ท้ายตารางในลีกสกอตแลนด์ นะ คุณกำลังทำงานให้กับทีมระดับนานาชาติ เป็นที่รู้จักทั่วโลกและมีผู้ให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม สิ่งที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้รับการสนับสนุนนั้นจะทำให้คุณขับเคลื่อนไปได้เสมอ
กับความคาดหวังมากมายรอบๆ สโมสร มันยากแค่ไหนในการทำทีมช่วงปีแรกๆ ที่ไม่มีทั้งความสำเร็จและถ้วยแชมป์ใดๆ เลย?
อืม...เรารู้ว่าเราต้องสร้างสโมสรฟุตบอลไม่ได้เพียงแต่ทีมฟุตบอล สำหรับอำนาจการดูแลของผมคือการมีสโมสรฟุตบอลอยู่เสมอ ไม่ใช่ทีมฟุตบอล ดังนั้นงานหนักก็จะเริ่มจากการจัดโครงสร้างของสโมสรใหม่ ขยายเครือข่ายแมวมองของเรา การฝึกซ้อมนักเตะอายุน้อยและการพัฒนาพื้นฐานของพวกเขา เมื่อพวกเขามาถึงสโมสร ทุกคนในสโมสรมีความเต็มใจอย่างยิ่งที่ได้ทำเช่นนี้ เมื่อผมและ อาร์ชี่ น็อกซ์ (ผู้ช่วยของเขา) เริ่มทำงานเราก็มองว่านี่ล่ะคือภารกิจหลักของเรา
คุณพัฒนาทีมเยาวชนของสโมสรอย่างไร?
หนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่ผมได้ทำก็คือ ผมได้พา เลส เคอร์ชอว์ มายังสโมสร (ผู้ซึ่งกลายเป็นแมวมองทีมเยาวชน และในขณะนี้เข้าเป็น Academy Director ) เขาน่าอัศจรรย์มาก เขามีแรงขับเคลื่อนอย่างที่คุณต้องการในตำแหน่งนี้ เขามีความอบอุ่นและมีความกระตือรือร้นในงานของเขา เขารักในสิ่งที่เขาทำ เขาเริ่มจัดการระบบแมวมองใหม่ทั้งหมด จากนั้นผมก็ดึง ไบรอัน คิดด์ เข้ามาเป็นแมวมองในท้องถิ่น ไบรอัน รู้จักพื้นที่ รวมทั้งแมวมองในแถบนี้ทั้งหมด และด้วยเหตุนี้ทำให้เราได้นักเตะอย่าง พอล สโคลส์, นิคกี้ บัตต์ และ สองพี่น้อง เนวิลล์
ในตอนนั้น ไรอัน กิ๊กส์ ได้มาอยู่กับเราแล้ว การได้ตัวเขามายังสโมสรเป็นภารกิจหลักอันดับแรกของผมเลยล่ะ เขาฝึกซ้อมอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และเขาก็สมัครใจที่จะเซ็นสัญญาอยู่ที่นั่น แต่ผมก็เชิญเขาและพ่อของเขามาที่สโมสร รวมทั้งในหลายๆ เทศกาล อาร์ชี่ และผมหรือไม่ก็ โจ บราวน์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาทีมเยาวชนในขณะนั้น ก็เดินทางไปหาเขาที่บ้านเพื่อพูดคุยกับพ่อและแม่ของเขา พยายามเชิญชวนให้เขามาร่วมทีมยูไนเต็ด เราค่อยๆ ดำเนินการไปทีละขั้น
สำหรับคุณแล้ว เห็นได้ชัดเลยมั๊ยว่ามาตรฐานของทีมพัฒนาขึ้น?
การฝึกซ้อมเด็กๆ จากทั่วประเทศทำให้เราได้ระดับที่จะทำให้นักเตะมีคุณภาพที่ดีขึ้น คุณภาพของนักเตะอายุน้อยของเราไปจนถึงจุดที่เราเริ่มที่จะทำให้นักเตะบางคนที่มีความสามารถในระดับหนึ่งต้องผิดหวังบ้างแล้ว นั่นเป็นเพราะมาตรฐานของเราดีขึ้น และดีขึ้นเรื่อยๆ
นักเตะหนุ่มที่เซ็นสัญญากับสโมสรมีข้อสงสัยอยู่เสมอ เช่น ผมจะมีความสุขกับที่นี่มั๊ย? และ ผมจะได้รับโอกาสให้ลงเล่นหรือเปล่า? มันเป็นคำถามที่ยากต่อผู้จัดการทีม แต่ในช่วงต้นปี 90 เราก็แข็งแกร่งมากขึ้น และในที่สุดเราก็ได้แชมป์ เอฟเอ ยูธ คัพ ในปี 1992 หลังจากที่พวกเขาได้เห็นทีมชุดใหญ่คว้าแชมป์นี้เมื่อปี 1990 และคว้าแชมป์ คัพ วินเนอร์ส คัพ ในปี 1991 และสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้กระบวนการสร้างสโมสรของเราเร็วขึ้น
คุณบอกว่าต้องมีความ อุตสาหะในการเป็นผู้จัดการทีม คุณคงต้องมีตัวอย่างมาบอกบ้างสิ...
สิ่งที่ผมเห็นได้ก็คือความต้องการที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องสำหรับสโมสร ความอยากที่จะไปให้ถึงจุดๆ นั้น ผมและ อาร์ชี่ น็อกซ์ ได้ทำงานหนักมากมาย ทุกสิ่งสร้างรอยจารึกไว้ให้จดจำ ผมจำการประชุมกับแมวมองของทีมทุกคนในสัปดาห์แรกของการทำงานได้ และผมได้บอกกับพวกเขาว่า ผมไม่สนใจนักเตะที่เก่งที่สุดในถนน แต่ผมสนใจนักเตะที่เก่งที่สุดในเมือง และก็ยังคงเป็นเช่นนั้นในวันนี้ เราไม่ต้องการให้แมวมองสนใจเพียงแต่เด็กหนุ่มที่เล่นเก่งบนถนนของเขาเท่านั้น เราต้องการให้พวกเขาออกไปมองในสนาม และมองหานักเตะอายุน้อยที่เก่งที่สุด พูดจริงๆ แล้วแมวมองของเราทำงานได้ดีมากๆ เรามีแมวมองที่เยี่ยมจริงๆ
ผมยังจำ โจ บรัมสกิล จากทางตะวันออกเฉียงเหนือได้ เขาเป็นแมวมองที่เยี่ยมมาก ทอม คอร์เลสส์ ก็เป็นแมวมองในท้องถิ่น และเขาเป็นผู้นำ พอล สโคลส์ และ นิคกี้ บัตต์ เข้ามา เขาเป็นแมวมองที่ดีจริงๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พวกเขาทั้งสองจากไปหลายปีมาแล้ว มีเรื่องราวดีๆ ที่เกี่ยวกับ โจ บรัมสกิล ก่อนหน้าที่ผมจะมาที่นี่ ทีมสต๊าฟโค้ชยังไม่มีส่วนร่วมในการเลือกนักเตะหนุ่มๆ มันถูกทิ้งให้เป็นหน้าที่ของแมวมอง ผมจึงบอกว่า มันไม่เพียงพอหรอก เราทุกคนต้องมีส่วนร่วม หลังจากนั้นในสนามฝึกซ้อมก็จะมีทั้งเหล่าสต๊าฟโค้ชและแมวมองด้วย เริ่มตั้งแต่สำนักงานเล็กๆของเราที่ถนนลิตเติ้ลตัน ไปจนถึงที่ เดอะ คลิฟฟ์ ผมจำได้เสมอว่าเด็กหนุ่มจากตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้ามาร่วมฝึกซ้อมซึ่งมีประมาณ 40 คนในครั้งนั้น บางคนก็บอกว่าเด็กๆ ยังทำได้ไม่ดีนัก บางคนก็บอกว่าพวกเขายังเร็วไม่พอ แต่ โจ ก็แย้งว่า คิดดูนะ คุณเฟอร์กูสัน ยังไงแล้วผมก็รู้ว่าเด็กๆ เหล่านี้เก่งกว่าพวกคุณทุกคนในนี้ด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เขาเป็นคนที่ยอดเยี่ยมจริงๆ
แล้ว ณ จุดไหนที่คุณรู้ว่านักเตะหนุ่มๆ ในปี 92 พร้อมและมีความสามารถพอที่จะบดบังรัศมีของทีมอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ?
มันเป็นจุดที่คุณจะไม่มีทางรู้จนกว่าจะให้พวกเขาเริ่มเล่นในทีมชุดใหญ่ ความหวังแรกของคุณก็คือการนำพาพวกเขาให้เล่นในทีมชุดใหญ่ให้ได้ แต่มันก็เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับนักเตะในทีมชุดใหญ่ เมื่อคุณเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมไป 10 ปี แล้วก็มีนักเตะหนุ่มบางคนเข้ามาแทนที่คุณ แต่ยังไงแล้วกระบวนการก็ต้องเป็นไป
ตอนนั้นผมจำได้ว่า อลัน แฮนเซ่น และ แกรี่ กิลเลสพี เล่นให้กับ ลิเวอร์พูล ผมต้องเดินทางไปลอนดอนในนัดที่เราเล่นกับพวกเขา แล้วผมก็โทรหา อิริค แฮร์ริสัน เพื่อถามถึงผมการแข่งขัน แล้วเขาก็บอกผมว่า มันเป็นฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เท่าที่ผมเคยเห็นมาเลย เราเอาชนะ ลิเวอร์พูล 5-0 และ อลัน แฮนเซ่น ก็ยิงเข้าประตูตัวเอง หลังจากนั้นทีมก็ไม่แพ้ใครไปจนถึง 2 นัดสุดท้ายของฤดูกาลที่เราแพ้ทั้ง 2 นัด แต่ก็เนื่องมาจากเราต้องเล่น เอฟเอ ยูธ คัพ ในช่วงเวลานั้นด้วย ในฤดูกาลนั้นเป็นช่วงเวลาที่แสดงเห็นว่าพวกเขาจะกลายเป็นสิ่งพิเศษในอนาคต